การกำกับดูแลกิจการที่ดี

คณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญและมีความมุ่งหวังที่จะยกระดับการกำกับดูแลกิจการไปสู่ระดับสากล เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารงานและก่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

ในปี 2565 คณะกรรมการบริษัทได้พัฒนาด้านการกำกับดูแลกิจการของบริษัทฯ ดังนี้

  1. การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน (รายละเอียดปรากฏในหัวข้อที่ 8.1.4 “การต่อต้านการทุจริต”)
    • บริษัทฯ ได้รับการต่ออายุฐานะสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย หรือโครงการ CAC เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 โดยการรับรองดังกล่าวจะมีอายุ 3 ปี นับจากวันที่มีมติให้การรับรอง
    • ปรับปรุงนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน (Anti-Corruption Policy) โดยได้รับการอนุมัติจากการประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ทั้งนี้ได้ประกาศใช้และเผยแพร่ไว้ที่เว็บไซต์ของบริษัทฯ และเผยแพร่ให้พนักงานทุกคนรับทราบผ่านแอพพลิเคชั่น MyPPS ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ภายในองค์กร
    • จัดอบรมและสื่อสารให้พนักงานเข้าใจถึงนโยบายและวิธีปฏิบัติในการต่อต้านการคอร์รัปชัน
  2. ดำเนินการปรับปรุงนโยบายการคุ้มครองและให้ความเป็นธรรมแก่พนักงานที่แจ้งข้อมูล หรือให้เบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับบริษัท จรรยาบรรณและข้อกำหนดเกี่ยวกับจริยธรรมของบริษัทฯ(Whistleblower Policy) โดยได้รับการอนุมัติจากการประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ทั้งนี้ได้ประกาศใช้และเผยแพร่ไว้ที่เว็บไซต์ของบริษัทฯ และเผยแพร่ให้พนักงานทุกคนรับทราบผ่านแอพพลิเคชั่น MyPPS ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ภายในองค์กร
  3. ดำเนินการปรับปรุงนโยบายเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1/2565) เพื่อให้ครอบคลุมแนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่เป็นสากล มีความทันสมัย เหมาะสมกับเวลาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565 ทั้งนี้ได้ประกาศใช้และเผยแพร่ไว้ที่เว็บไซต์ของบริษัทฯ และเผยแพร่ให้พนักงานทุกคนรับทราบผ่านแอพพลิเคชั่น MyPPS ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ภายในองค์กร
  4. ดำเนินการปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับจริยธรรมธุรกิจ และคู่มือจรรยาบรรณ สำหรับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน โดยได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท 4/2565 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ทั้งนี้ได้ประกาศใช้และเผยแพร่ไว้ที่เว็บไซต์ของบริษัทฯ และเผยแพร่ให้พนักงานทุกคนรับทราบผ่านแอพพลิเคชั่น MyPPS ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ภายในองค์กร
  5. ดำเนินการปรับปรุงวิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยม โดยได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท 4/2565 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ทั้งนี้ได้ประกาศใช้และเผยแพร่ไว้ที่เว็บไซต์ของบริษัทฯ และเผยแพร่ให้พนักงานทุกคนรับทราบผ่านแอพพลิเคชั่น MyPPS ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ภายในองค์กร
  6. บริษัทฯ ได้รับผลสำรวจโครงการ CGR ประจำปี 2565 CG SCORING ระดับ 5 ดาว (ระดับดีเลิศ) ติดต่อกันเป็นปีที่ 8 โดยได้รับคะแนนประเมินเฉลี่ย 95 เปอร์เซ็นต์
  7. บริษัทฯ ได้รับคะแนน 100 คะแนนเต็ม จากการประเมินคุณภาพการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น “AGM Checklist 2565” โดยสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย
  8. บริษัทฯ ได้รับคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน Thailand Sustainability Investment (THSI) โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ติดต่อกันเป็นปีที่ 8
  9. บริษัทฯ ได้รับรางวัลผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนดีเด่น Highly Commended Sustainability Awards สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ในงาน SET Awards ประจำปี 2565 โดยบริษัทฯ ได้รับรางวัลเป็นปีที่ 4
  10. บริษัทฯ ได้รับรางวัลเกียรติคุณ Sustainable Disclosure Award ประจำปี 2565 ด้านการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน จากสถาบันไทยพัฒน์ ติดต่อกันเป็นปีที่ 4
หมวดที่ 1 สิทธิของผู้ถือหุ้น (Rights of Shareholders)

บริษัทฯ ตระหนักดีถึงความสำคัญของผู้ถือหุ้นจึงให้ความสำคัญ เคารพสิทธิและความเท่าเทียมกันของผู้ถือหุ้นทุกรายด้วยความเป็นธรรม ตามที่ได้กำหนดไว้ในข้อบังคับของบริษัทฯ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง สิทธิพื้นฐานที่ผู้ถือหุ้นได้รับอย่างเสมอภาคกันประกอบด้วย สิทธิในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น สิทธิในการมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนนแทน สิทธิใน การเสนอเพิ่มวาระการประชุม สิทธิในการเสนอรายชื่อบุคคลเป็นกรรมการ สิทธิในการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งหรือถอดถอนกรรมการเป็นรายบุคคล สิทธิในการออกเสียงลงคะแนนแต่งตั้งและกำหนดค่าตอบแทนผู้สอบบัญชี สิทธิในการออกเสียงลงคะแนนในกิจการต่าง ๆ ของบริษัทฯ สิทธิในการรับเงินปันผล สิทธิในการแสดงความคิดเห็นและซักถามในที่ประชุมผู้ถือหุ้น สิทธิที่จะได้รับสารสนเทศอย่างเพียงพอและทันเวลา ตลอดจนการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ถือหุ้นในการใช้สิทธิในการเข้าร่วมประชุมและออกเสียงได้อย่างเต็มที่

ทั้งนี้บริษัทฯ ยังได้ดูแลอย่างใกล้ชิดในการปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว รวมถึงหลักเกณฑ์อื่น ๆ ที่กฎหมายกำหนดเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ถือหุ้น

1.1 การประชุมผู้ถือหุ้น

ก่อนวันประชุม คณะกรรมการบริษัทได้จัดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นภายใน 4 เดือน นับจากวันสิ้นสุดของรอบปีบัญชีของบริษัทฯ โดยในปี 2565 ได้จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2565 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 12.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 4 บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เลขที่ 103 ซอยพระรามเก้า 60 (ซอย 7 เสรี 7) ถนนพระรามเก้า แขวงพัฒนาการ เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร 10250 ในการเรียกประชุมผู้ถือหุ้น คณะกรรมการจัดทำเป็นหนังสือนัดประชุม โดยระบุสถานที่ วัน เวลา ระเบียบวาระการประชุม และเรื่องที่จะเสนอต่อที่ประชุม พร้อมด้วยรายละเอียดและเหตุผลตามสมควร โดยระบุให้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องที่จะเสนอเพื่อทราบ เพื่ออนุมัติ หรือเพื่อพิจารณาแล้วแต่กรณี รวมทั้งความเห็นของคณะกรรมการในเรื่องดังกล่าว และจัดส่งให้ผู้ถือหุ้นและนายทะเบียนทราบ พร้อมกับแนบหนังสือมอบฉันทะสำหรับผู้ถือหุ้นที่ไม่อาจมาร่วมประชุมได้ด้วยตนเอง โดยจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนวันประชุม และทำการโฆษณาคำบอกกล่าวนัดประชุมในหนังสือพิมพ์ติดต่อกัน 3 วัน ล่วงหน้าก่อนวันประชุม 14 วัน ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับของบริษัทฯ และ/หรือตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้บริษัทฯ ได้กำหนดเป้าหมายในการจัดส่งหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นฉบับสมบูรณ์ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 21 วัน รวมทั้งนำเสนอไว้บนเว็บไซต์ของบริษัทฯ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน คณะกรรมการมีนโยบายในการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นทุกรายซึ่งรวมถึงนักลงทุนสถาบันเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นตลอดจนได้ให้ความสำคัญในการจัดประชุมผู้ถือหุ้น โดยมอบอำนาจให้ฝ่ายจัดการและนายทะเบียนหุ้นของบริษัทฯ ดำเนินการจัดเตรียมการประชุมผู้ถือหุ้นในการจัดส่งจดหมายนัดประชุม จัดเตรียมสถานที่ ที่สามารถเดินทางไปได้สะดวก รวมถึงเลือกวันเวลาที่เหมาะสม ตลอดจนการให้ข่าวสารการประชุม การให้ความสะดวกในการประชุม รวมถึงการจัดเตรียมข้อมูลที่เปิดเผยเพียงพอเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ถือหุ้นในการประชุมผู้ถือหุ้น โดยประธานกรรมการจะจัดสรรเวลาให้เหมาะสม และส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นมีโอกาสแสดงความเห็นและตั้งคำถามอย่างเท่าเทียมกันต่อที่ประชุมตามระเบียบวาระการประชุม ทั้งนี้คณะกรรมการจะไม่เพิ่มวาระอื่น ๆ ที่ไม่ได้ระบุไว้ล่วงหน้าในหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งกรรมการทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประธานคณะกรรมการชุดต่าง ๆ รวมทั้งตัวแทนจากผู้สอบบัญชีได้เข้าประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อตอบคำถามหรือชี้แจงต่อที่ประชุม

ในวันที่มีการจัดการประชุม บริษัทฯ ได้คำนึงถึงความสะดวกของผู้ถือหุ้นในการมาเข้าร่วมการประชุมจึงเลือกสถานที่ประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 4 บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เลขที่ 103 ซอยพระรามเก้า 60 (ซอย 7 เสรี 7) ถนนพระรามเก้า แขวงพัฒนาการ เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร 10250 และได้เตรียมความพร้อมเพื่อให้การประชุมดำเนินไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยได้จัดประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-AGM) เท่านั้น ผู้ถือหุ้นสามารถลงทะเบียนเข้าประชุมล่วงหน้าได้ 2 ชั่วโมงก่อนการเริ่มประชุม การลงคะแนนใช้ระบบ E-Voting และมีการลงคะแนนครบถ้วนตามวาระ

เมื่อการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 เริ่มขึ้น คณะกรรมการบริษัททั้ง 7 ท่าน (โดยมาประชุมด้วยตนเอง 6 ท่าน ประชุมผ่านแอปพลิเคชัน Zoom 1 ท่าน) เลขานุการบริษัท และผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ (ประชุมผ่านแอปพลิเคชัน Zoom) ได้เข้าประจำที่เพื่อเริ่มการประชุม รวมถึงสำนักงานกฎหมายเทพ จำกัด ซึ่งได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมในฐานะเป็นผู้สังเกตการณ์การจัดการประชุมเพื่อให้การประชุมเป็นไปอย่างถูกต้องตามบทกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทฯ และเป็นกรรมการตรวจสอบการนับคะแนนเสียงของการประชุมครั้งนี้

คณะกรรมการบริษัท กรรมการทุกท่าน ประธานคณะกรรมการชุดย่อย และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ ได้เข้าร่วมการประชุมอย่างครบถ้วนเพื่อคอยตอบคำถามจากผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ ประธานในที่ประชุมได้แจ้งต่อที่ประชุมว่ามอบหมายให้เลขานุการบริษัทเป็นผู้แจ้งจำนวนผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุมทั้งด้วยตนเองและแบบมอบฉันทะ และได้แถลงต่อผู้ถือหุ้นให้ทราบถึงสิทธิตามข้อบังคับของบริษัทฯ การดำเนินการประชุม สิทธิในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งตั้งคำถามใด ๆ ต่อที่ประชุมตามระเบียบวาระการประชุม ตลอดจนชี้แจงวิธีการออกเสียงลงคะแนนโดยใช้บัตรลงคะแนนในแต่ละวาระแยกออกจากกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ถือหุ้นที่ไม่เห็นด้วย หรืองดออกเสียง เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้ลงคะแนนเสียงอย่างโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้

ในระหว่างการประชุม ประธานในที่ประชุมได้ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระที่ได้แจ้งผู้ถือหุ้นไว้ โดยได้กำหนดเวลาในการพิจารณาแต่ละวาระอย่างเหมาะสมในการลงคะแนน และได้ให้ข้อมูลของผู้ตรวจสอบบัญชีอย่างถูกต้องและเพียงพอต่อผู้ถือหุ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นอิสระของผู้สอบบัญชี ตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นทุกรายสามารถใช้สิทธิเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน ไม่ว่าจะเป็นการเสนอแนะความคิดเห็น การซักถาม การร่วมอภิปราย โดยบริษัทฯ จะให้ความสำคัญกับทุกคำถามและตอบข้อซักถามอย่างตรงไปตรงมา ทั้งนี้ เพื่อให้การประชุมของบริษัทฯ สามารถตรวจสอบได้ บริษัทฯ ได้จัดให้มีการบันทึกการประชุมพร้อมทั้งคำถามและคำตอบของผู้ถือหุ้นไว้เป็นลายลักษณ์อักษร รวมถึงผลการลงคะแนนเสียงในแต่ละวาระของการประชุมผู้ถือหุ้นทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และงดออกเสียง ทั้งยังจัดให้มีการบันทึกภาพการประชุมในลักษณะสื่อวีดิทัศน์

หลังเสร็จสิ้นการประชุมผู้ถือหุ้น บริษัทฯ ได้แจ้งมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ทันทีก่อน ตลท. เปิดทำการซื้อขายหลักทรัพย์รอบถัดไป และบริษัทฯ ได้จัดทำบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นทุกครั้ง โดยมีเนื้อหาที่ประชุมถูกต้อง ครบถ้วน รวมถึงรายละเอียดกรรมการที่เข้าร่วมประชุม การแจ้งคะแนนนับทุก ๆ วาระ และข้อซักถามหรือข้อคิดเห็นที่สำคัญ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถตรวจสอบได้ โดยแจ้งรายงานการประชุมไปยัง ตลท. ภายใน 14 วัน นับจากวันประชุมผู้ถือหุ้น และจัดส่งรายงานประจำปีพร้อมกับสำเนางบดุลและบัญชีกำไรขาดทุนที่ผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบและที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้อนุมัติแล้ว และสำเนารายงานการประชุมผู้ถือหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติงบดุล การจัดสรรกำไร และการจ่ายเงินปันผล ไปยังนายทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัด สำหรับงบดุลนั้นบริษัทฯ จะโฆษณาให้ประชาชนทราบทางหนังสือพิมพ์อย่างน้อย 1 วัน ทั้งนี้ ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติ

นอกจากนี้บริษัทฯ ได้จัดทำรายงานการประชุมสามัญหรือวิสามัญผู้ถือหุ้นเปิดเผยไว้ในเว็บไซต์ของบริษัทฯ

1.2 ความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น

คณะกรรมการบริษัทถือเป็นหน้าที่ในการดูแลให้ผู้บริหารและพนักงาน ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีความสำนึกในหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบต่อผลของการปฏิบัติงาน เพื่อทำให้ผู้ถือหุ้นมีความเชื่อถือและยอมรับในการตัดสินใจว่าการดำเนินการใด ๆ กระทำด้วยความเป็นธรรม และคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้นทั้งรายใหญ่และรายย่อย

นอกจากนี้ ยังต้องให้ผู้ถือหุ้นสามารถใช้สิทธิในการดูแลรักษาผลประโยชน์ของตนไม่ว่าจะด้วยการแสดงความเห็น ให้ข้อเสนอแนะ และออกเสียงลงมติร่วมตัดสินใจในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่าง ๆ รวมทั้งการเลือกตั้งคณะกรรมการบริษัท และกำหนดค่าตอบแทนกรรมการ การจัดสรรกำไร และการจ่ายเงินปันผล รวมถึงการแต่งตั้งและกำหนดค่าตอบแทนผู้สอบบัญชีในที่ประชุมผู้ถือหุ้น โดยบริษัทฯ ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามความเป็นจริง ถูกต้อง ครบถ้วน และสามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้ การกำหนดค่าตอบแทนกรรมการนั้น คณะกรรมการบริษัทต้องเสนอให้ผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติเป็นประจำทุกปี และต้องนำเสนอนโยบายในการกำหนดค่าตอบแทนของกรรมการบริษัทเพื่อประกอบการพิจารณาของผู้ถือหุ้นด้วย

หมวดที่ 2 การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียม (Equitable Treatment of Shareholders)

บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับสิทธิของผู้ถือหุ้นทุกท่านอย่างเท่าเทียม โดยคณะกรรมการบริษัท มีความตั้งใจและได้กำหนดแนวทางในการดูแลให้ผู้ถือหุ้นทุกรายได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้ถือหุ้นรายย่อย ผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย หรือผู้ถือหุ้นสัญชาติต่างด้าว โดยความเท่าเทียมกันของผู้ถือหุ้นที่ได้รับจากบริษัทฯ เป็นดังต่อไปนี้

ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยสามารถเสนอวาระการประชุมและเสนอชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการได้เป็นการล่วงหน้า โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์การให้สิทธิดังกล่าวแก่ผู้ถือหุ้นส่วนน้อย รวมถึงขั้นตอนและวิธีการพิจารณาที่ชัดแจ้งในการที่บริษัทฯ จะรับบรรจุเป็นวาระการประชุม โดยการเสนอวาระการประชุมและการเสนอชื่อบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการสามารถกระทำผ่านทาง www.pps.co.th ในระหว่างวันที่ 4 ตุลาคม 2564 - 30 ธันวาคม 2564 แต่ไม่มีผู้ถือหุ้นรายใดเสนอวาระหรือรายชื่อบุคคลเข้ามา

ผู้ถือหุ้นที่ไม่สะดวกในการเข้าประชุมด้วยตนเอง บริษัทฯ ได้จัดส่งหนังสือมอบฉันทะทั้งแบบ ก. แบบ ข. และแบบ ค. ตามประกาศของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เรื่องการกำหนดแบบหนังสือมอบฉันทะ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นทั้งรูปแบบทั่วไป และรูปแบบที่ผู้ถือหุ้นสามารถกำหนดทิศทางการลงคะแนนเสียงได้ให้แก่ผู้ถือหุ้น โดยผู้ถือหุ้นสามารถมอบฉันทะให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกรรมการตรวจสอบที่บริษัทฯ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรรมการตรวจสอบอย่างเพียงพอเป็นผู้ลงคะแนนเสียงแทนตนได้ สำหรับหนังสือมอบฉันทะที่ผู้ถือหุ้นมอบฉันทะให้ผู้อื่นมาลงคะแนนเสียงแทนแต่มิได้ติดอากรแสตมป์ทางบริษัทฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบติดอากรแสตมป์นั้นเอง

วาระการเลือกตั้งกรรมการ ผู้ถือหุ้นสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งกรรมการได้เป็นรายบุคคล โดยคะแนนเสียงของผู้ถือหุ้นเท่ากับจำนวนหุ้นที่ตนมีอยู่ คือ 1 หุ้นต่อ 1 คะแนนเสียง

ในวันประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 บริษัทฯ ได้ดำเนินการตามนโยบายของบริษัทฯ ที่จะให้กรรมการบริษัททุกคนเข้าร่วมการประชุม โดยกรรมการบริษัทได้เข้าร่วมประชุมจำนวน 7 คน (มาประชุมด้วยตนเอง 6 ท่าน ประชุมผ่านแอปพลิเคชัน Zoom 1 ท่าน) จากจำนวน 7 คน คิดเป็นร้อยละ 100 ของจำนวนกรรมการบริษัททั้งหมด เมื่อถึงเวลาเริ่มการประชุม เลขานุการบริษัทได้ชี้แจงวิธีการลงคะแนนและนับคะแนนเสียงแก่ผู้ถือหุ้น โดยปฏิบัติตามข้อบังคับของบริษัทฯ ในการลงคะแนนเสียงที่กำหนดให้หนึ่งหุ้นคือหนึ่งคะแนนเสียง และการลงคะแนนเสียงให้ทำโดยเปิดเผย โดยบริษัทฯ ได้เตรียมบัตรลงคะแนนเสียงให้กับผู้ถือหุ้นครบทุกวาระ สำหรับวาระการแต่งตั้งกรรมการ บริษัทฯ เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นใช้สิทธิในการพิจารณาแต่งตั้งกรรมการเป็นรายบุคคล

การประชุมได้ดำเนินไปตามวาระการประชุมโดยไม่มีการเพิ่มเติมวาระอื่นจากที่ได้กำหนดไว้ในหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้น และได้ปฏิบัติตามข้อบังคับของบริษัทฯ อย่างเคร่งครัด ประธานกรรมการเป็นผู้ควบคุมการประชุมและเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นเพื่อเสนอแนะแก่ที่ประชุมในเวลาที่เพียงพอและเหมาะสมก่อนที่จะมีการลงมติในวาระการประชุมนั้น ๆ ผู้ถือหุ้นลงคะแนนโดยใช้บัตรลงคะแนนที่บริษัทฯจัดให้กับผู้ถือหุ้น เมื่อผู้ถือหุ้นได้ลงคะแนนแล้วบริษัทฯ จัดให้มีการนับคะแนนเสียงในวาระนั้นๆทันที การลงคะแนนและนับคะแนนจึงเป็นไปอย่างถูกต้อง เปิดเผย และรวดเร็ว ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังได้มีการจัดเก็บบัตรลงคะแนน(ข้อมูล)ไว้เป็นหลักฐานสำหรับการตรวจสอบในภายหลัง รวมถึงได้บันทึกมติที่ประชุมทั้งจำนวนคะแนนเสียงที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และงดออกเสียงในแต่ละวาระเป็นลายลักษณ์อักษร รวมถึงได้บันทึกคำถาม คำชี้แจงและความเห็นของที่ประชุมไว้

หลังจากการประชุม 14 วัน บริษัทฯ ได้เปิดเผยรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นใน www.pps.co.th และจัดเก็บรายงานการประชุมไว้ ณ สำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถตรวจสอบได้

สำหรับการดูแลข้อมูลภายในของบริษัทฯ บริษัทฯ ได้กำหนดนโยบายในเรื่องดังกล่าวและนำไปบังคับใช้กับผู้บริหารและพนักงานของบริษัทฯ ห้ามมิให้ผู้บริหาร พนักงานของบริษัทฯ นำข้อมูลภายในของบริษัทฯ ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนบุคคล รายละเอียดในเรื่องนี้ได้เปิดเผยในหัวข้อการกำกับดูแลข้อมูลภายใน ทั้งนี้ในระหว่างปี 2565 ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่ากรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานบริษัทฯ มีการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ อย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงก่อนที่จะมีการเปิดเผยงบการเงิน

บริษัทฯ ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันไว้ในข้อกำหนดเกี่ยวกับจริยธรรมธุรกิจและคู่มือจรรยาบรรณสำหรับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ โดยกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานไม่พึงดำเนินการใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ต่อบริษัทฯ โดยในปี 2565 ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่ากรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ ได้มีการกระทำรายการที่มีความขัดแย้งกับผลประโยชน์ของบริษัทฯ แต่อย่างใด

หมวดที่ 3 การคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย (Roles of stakeholders)

ธุรกิจของบริษัทฯ เป็นการทำงานร่วมกันกับผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย การบริหารจัดการผลประโยชน์เป็นสิ่งที่บริษัทฯ ระมัดระวังและพยายามรักษาความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย โดยปฏิบัติตามบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้มีส่วนได้เสีย

การเคารพสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ

บริษัทฯ ตั้งมั่นในความยุติธรรม และความมีคุณธรรมกับผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ โดยไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้หนึ่งผู้ใดอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ใช้วิจารณญาณ หรือความสัมพันธ์ส่วนตัวตัดสิน และให้โอกาสเท่าเทียมกันโดยไม่แบ่งแยก เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา หรือเพศ บริษัทฯ ตระหนักถึงความรับผิดชอบที่พึงมีต่อสังคมและชุมชน และถือเป็นภารกิจหลักที่จะสร้างสรรค์โครงการ และกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาสังคมและชุมชน โดยบริษัทฯ ได้กำหนดนโยบายและวางแนวทางในการปฏิบัติรวมถึงการเปิดเผยถึงการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายได้ดังนี้

  1. ผู้ถือหุ้น บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาธุรกิจของบริษัทฯ ให้เจริญเติบโต สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว และแบ่งปันผลกำไรให้ผู้ถือหุ้นอย่างเหมาะสม รวมทั้งนำเสนอข้อมูลต่อผู้ถือหุ้นอย่างถูกต้อง ครบถ้วน โปร่งใส ทันเวลา และเท่าเทียมกัน
  2. พนักงาน บริษัทฯ จะปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ใช้ระบบการประเมินผลงาน (KPI) ในการประเมินผลการปฏิบัติงาน ผลจากการประเมินจะใช้ในการวางแผนการฝึกอบรม การสนับสนุนเรื่องการศึกษาต่อของพนักงาน และการพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นธรรม รวมทั้งบริษัทฯ ยังจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานและสวัสดิการต่าง ๆ กำกับดูแลเรื่องความปลอดภัย และสุขอนามัยที่ดีในสถานที่ทำงาน (รายละเอียดปรากฎในหัวข้อที่ 3.4.1 ข้อ (2) การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรมและสร้างความผูกพันต่อพนักงาน หน้า 129-130 ข้อ (3) ส่งเสริมเพื่อพัฒนาศักยภาพพนักงาน หน้า 131, หัวข้อที่ 3.4.2 ข้อ (2) ผลการดำเนินงานด้านการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรมและสร้างความผูกพันต่อพนักงาน หน้า 133-134 ข้อ (3) ผลการดำเนินงานด้านการส่งเสริมเพื่อพัฒนาศักยภาพพนักงาน หน้า 134)
  3. ลูกค้า บริษัทฯ เอาใจใส่และรับผิดชอบต่อลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้บริการ มุ่งเน้นให้เกิดความพอใจสูงสุดกับลูกค้า โดยในปี 2565 บริษัทฯ ได้ขอให้ลูกค้าประเมินความพึงพอใจในการบริการของบริษัทฯ ที่มีต่อลูกค้า ซึ่งผลการประเมินได้คะแนนเฉลี่ย 81% ทั้งนี้ บริษัทฯ มีหลักประกันให้กับลูกค้าจากทุนจดทะเบียน 279.4 ล้านบาท เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้ายิ่งขึ้น (รายละเอียดปรากฎในหัวข้อที่ 3.4.1 ข้อ (5) ส่งมอบผลงานที่มีคุณภาพและตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า หน้า 132, หัวข้อที่ 3.4.2 ข้อ (5) ผลการดำเนินงานด้านการส่งมอบผลงานที่มีคุณภาพและตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า หน้า 135)
  4. คู่ค้า การซื้อสินค้าและบริการจากคู่ค้าเป็นไปตามเงื่อนไขทางการค้า รวมถึงปฏิบัติต่อคู่ค้าตามสัญญาที่ ตกลงกันและยึดมั่นตามหลักกฎหมาย (รายละเอียดปรากฎในหัวข้อที่ 3.4.1 ข้อ (4.2) การปฏิบัติต่อคู่ค้าเพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม หน้า 131-132, หัวข้อที่ 3.4.2 ข้อ (4.2) ผลการดำเนินงานด้านการปฏิบัติต่อคู่ค้าเพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม หน้า 134)
  5. คู่แข่ง บริษัทฯ ยึดหลักการประพฤติตามกรอบกติกาการแข่งขันที่ดี ไม่ใช้วิธีการที่ไม่สุจริตเพื่อทำลายคู่แข่งทางการค้า การแข่งขันจะเป็นไปอย่างเป็นธรรม วัดกันที่คุณภาพของงาน (รายละเอียดปรากฎในหัวข้อที่ 3.4.1 ข้อ (4.1) การแข่งขันที่เป็นธรรม หน้า 131, หัวข้อที่ 3.4.2 ข้อ (4.1) ผลการดำเนินงานด้านการแข่งขันที่เป็นธรรม หน้า 134)
  6. เจ้าหนี้ บริษัทฯ ปฏิบัติตามสัญญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ที่ให้การสนับสนุนเงินกู้ของบริษัทฯ (รายละเอียดปรากฎในหัวข้อที่ 3.4.1 ข้อ (4.2) การปฏิบัติต่อคู่ค้าเพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม หน้า 131-132, หัวข้อที่ 3.4.2 ข้อ (4.2) ผลการดำเนินงานด้านการปฏิบัติต่อคู่ค้าเพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม หน้า 134)
  7. ทรัพย์สินทางปัญญาและลิขสิทธิ์ บริษัทฯ เคารพสิทธิในทรัพย์สิน ทรัพย์สินทางปัญญาและงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่น (รายละเอียดปรากฎในหัวข้อที่ 3.4.1 ข้อ (4.3) การเคารพต่อสิทธิในทรัพย์สินของผู้อื่น หน้า 132, หัวข้อที่ 3.4.2 ข้อ (4.3) ผลการดำเนินงานด้านการเคารพต่อสิทธิในทรัพย์สินของผู้อื่น หน้า 134)
  8. สิทธิมนุษยชน บริษัทฯ มีนโยบายและแนวปฏิบัติที่จะไม่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน (รายละเอียดปรากฎในหัวข้อที่ 3.4.1 ข้อ (1) การเคารพสิทธิมนุษยชน หน้า 129, หัวข้อที่ 3.4.2 ข้อ (1) ผลการดำเนินงานด้านการเคารพสิทธิมนุษยชน หน้า 133)
  9. สังคม บริษัทฯ มีนโยบายและให้ความสำคัญต่อการรับผิดชอบและตอบแทนสู่สังคม (รายละเอียดปรากฎในหัวข้อที่ 3.4.1 ข้อ (6) การแบ่งปันความรู้และสร้างกิจกรรมเพื่อพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน หน้า 133, หัวข้อที่ 3.4.2 ข้อ (6) ผลการดำเนินงานด้านการแบ่งปันความรู้และสร้างกิจกรรมเพื่อพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน หน้า 135-136)
  10. ชุมชน บริษัทฯ มีนโยบายและให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชนในวาระและโอกาสที่เหมาะสม (รายละเอียดปรากฎในหัวข้อที่ 3.4.1 ข้อ (6) การแบ่งปันความรู้และสร้างกิจกรรมเพื่อพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน หน้า 133, หัวข้อที่ 3.4.2 ข้อ (6) ผลการดำเนินงานด้านการแบ่งปันความรู้และสร้างกิจกรรมเพื่อพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน หน้า 135-136)
  11. ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม บริษัทฯ มีนโยบายที่จะเอาใจใส่และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (รายละเอียดปรากฎในหัวข้อที่ 3.3 การจัดการด้านความยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อม หน้า 124-128)
หมวดที่ 4 การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส

บริษัทฯ ให้ความมั่นใจต่อนักลงทุน โดยการเปิดเผยสารสนเทศที่สำคัญของบริษัทฯ อย่างถูกต้องครบถ้วน ทันเวลา โปร่งใส และเท่าเทียมกัน ทั้งข้อมูลทางการเงินและผลการดำเนินงาน ส่วนข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องได้รับการดูแลโดยกฎระเบียบ ข้อบังคับ ตลอดจนวิธีปฏิบัติของบริษัทฯ เพื่อป้องกันไม่ให้ความลับของบริษัทฯ รั่วไหลไปยังคู่แข่งทางการค้า ตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยนอกจากจะเปิดเผยข้อมูลผ่านแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1 One Report) แล้ว ข้อมูลส่วนใหญ่ได้นำเสนอทางเว็บไซต์ของ ตลท. และเว็บไซต์ของบริษัทฯ ซึ่งช่วยให้ผู้ถือหุ้น ลูกค้า นักวิเคราะห์ นักลงทุน และผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย มีความเท่าเทียมกันและเชื่อถือได้ ทั้งนี้ ผู้ลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลของบริษัทฯ เพิ่มเติมได้จากแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1 One Report) ของบริษัทฯ ที่แสดงไว้ใน www.set.or.th หรือเว็บไซต์ของ www.pps.co.th

บริษัทฯ กำหนดให้มีหน่วยงานและบุคคลที่จะประสานและให้ข้อมูลแก่ผู้ถือหุ้น ผู้สนใจจะลงทุนกับบริษัทฯ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งยังเปิดโอกาสให้มีการชี้แจงพบปะและตอบข้อซักถามโดยผู้บริหารของบริษัทฯ

4.1 การรายงานทางการเงิน

คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำรายงานทางการเงินรวมของบริษัทฯ ตลอดจนสารสนเทศที่เสนอต่อผู้ถือหุ้นในรายงานประจำปี ดูแลคุณภาพของรายงานทางการเงินรวมทั้งงบการเงินรวมของบริษัทฯ ให้มีการจัดทำงบการเงินตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป มีการตรวจสอบบัญชี โดยผู้สอบบัญชีที่เชื่อถือได้และมีความเป็นอิสระ ดูแลให้บริษัทฯ เลือกใช้นโยบายบัญชีที่เหมาะสมและถือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ จัดการดูแลให้รายงานทางการเงินรวมของบริษัทฯ มีความถูกต้อง ครบถ้วน เป็นจริง และมีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญเพียงพอครบถ้วน สมเหตุสมผล และเป็นที่เชื่อถือได้

คณะกรรมการบริษัทได้ดูแลให้บริษัทฯ มีฝ่ายตรวจสอบซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบทุกหน่วยงานของบริษัทฯ เป็นระยะ เพื่อให้มีการบันทึกข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน มีการปฏิบัติงานตามมาตรฐานและมีความสุจริตตามนโยบายที่บริษัทฯ กำหนด และไม่ดำเนินการใดอันเป็นการละเมิดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

คณะกรรมการบริษัทได้แต่งตั้งให้กรรมการอิสระ 4 ท่าน เป็นกรรมการตรวจสอบทำหน้าที่ในการสอบทานให้บริษัทฯ มีรายงานทางการเงินที่ถูกต้อง ชัดเจน และทันเวลา สอบทานให้บริษัทฯ มีระบบการควบคุมภายในและการตรวจสอบภายในที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนพิจารณาการปฏิบัติตามกฎหมายต่าง ๆ และระเบียบของบริษัทฯ พิจารณาการเปิดเผยข้อมูลให้ถูกต้อง ชัดเจน โปร่งใส และทันเวลา ตามข้อกำหนดของการเป็นบริษัทจดทะเบียน ในกรณีที่มีรายการที่เกี่ยวโยงหรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ บริษัทฯ จะนำเสนอคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อให้พิจารณาความเหมาะสมและความสมเหตุสมผลก่อนที่จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

4.2 การบริหารความเสี่ยง

คณะกรรมการบริษัทจัดให้มีระบบบริหารความเสี่ยงโดยแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ในการทำหน้าที่พิจารณาและนำเสนอนโยบายบริหารความเสี่ยง แผนงาน และผลการปฏิบัติงานตามแผนต่อคณะกรรมการบริษัท โดยนโยบายบริหารความเสี่ยง ครอบคลุมถึงทุกหน่วยงานในบริษัทฯ และครอบคลุมปัจจัยความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับวิสัยทัศน์ เป้าหมาย กลยุทธ์ทางธุรกิจ การเงิน การผลิต การประเมินความเสี่ยงจากการทุจริต และการปฏิบัติงานด้านอื่น ๆ รวมถึงสามารถพิจารณาถึงโอกาสที่จะเกิดและระดับความรุนแรงของผลกระทบ กำหนดมาตรการในการแก้ไขและผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน และกำหนดมาตรการในการรายงานและการติดตามประเมินผล เพื่อให้มั่นใจได้ว่าระบบบริหารความเสี่ยงมีประสิทธิภาพสูง

4.3 การควบคุมภายใน

คณะกรรมการบริษัทจัดให้บริษัทฯ มีระบบการควบคุมภายในที่ครอบคลุมทุกด้านทั้งด้านการเงิน การปฏิบัติงาน การดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง การกำกับดูแลและควบคุมดูแลเพื่อป้องกัน และติดตามความเสี่ยงจากการทุจริต และจัดให้มีกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการปกป้องรักษา และดูแลเงินลงทุนของผู้ถือหุ้นและสินทรัพย์ของบริษัทฯ อยู่เสมอ จัดให้มีการกำหนดลำดับชั้นของอำนาจอนุมัติและความรับผิดชอบของผู้บริหารและพนักงานที่มีการตรวจสอบและถ่วงดุลในตัวกำหนดระเบียบการปฏิบัติงานอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร มีฝ่ายตรวจสอบภายในที่เป็นอิสระ โดยบริษัทฯ ว่าจ้าง บริษัท เจ พี ทิพ ออดิท จำกัด ให้เป็นผู้ตรวจสอบภายในและรายงานตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ ทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติงานของหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานธุรกิจและหน่วยงานสนับสนุน ให้เป็นไปตามระเบียบที่วางไว้

4.4 การทำรายการของกรรมการหรือผู้บริหาร
  1. บริษัทฯ กำหนดเป็นนโยบายให้กรรมการเปิดเผยรายงานการซื้อ-ขายหุ้น การถือครองหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ให้ทราบทุกครั้ง และรายงานการถือครองหลักทรัพย์ของบริษัทฯให้ที่ประชุมคณะกรรมการทราบ
  2. บริษัทฯ กำหนดเป็นนโยบายให้กรรมการต้องรายงานการมีส่วนได้เสียของกรรมการต่อคณะกรรมการตรวจสอบ
  3. บริษัทฯ กำหนดเป็นนโยบายว่าการทำรายงานระหว่างกันที่สำคัญต้องได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการ
4.5 การพบปะนักวิเคราะห์ นักลงทุน และการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน

บริษัทฯ ได้เข้าร่วมในกิจกรรม บริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุน (Opportunity Day) ซึ่งจัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อบริษัทฯ จะได้ดำเนินกิจกรรมนักลงทุนสัมพันธ์ โดยชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจ และการดำเนินงานของบริษัทฯ แก่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ นักลงทุน และสื่อมวลชนที่มาร่วมงาน โดยในปี 2565 บริษัทฯ ได้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 2 ครั้ง ดังนี้

  • ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565
  • ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565
หมวดที่ 5 ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ (Board Responsibilities)

คณะกรรมการบริษัทมีความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติหน้าที่และเป็นอิสระอย่างแท้จริงจากฝ่ายจัดการ เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นโดยรวม โดยมีการแบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่างคณะกรรมการและฝ่ายจัดการไว้อย่างชัดเจน โดยคณะกรรมการบริษัทจะเป็นผู้กำหนดนโยบายและกำกับดูแลการบริหารงานของผู้บริหารเพื่อให้ระบบงานต่าง ๆ ของบริษัทฯ ดำเนินไปตามวัตถุประสงค์และนโยบายของบริษัทฯ ถูกต้องตามกฎหมายและจริยธรรม ส่วนผู้บริหารมีหน้าที่บริหารธุรกิจเพื่อสร้างผลกำไร โดยการทำหน้าที่ดังกล่าว ทั้งคณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารจะปฏิบัติและร่วมกันรับผิดชอบต่อทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน เจ้าหนี้ รัฐ ลูกค้าและสังคม

คณะกรรมการบริษัททำหน้าที่ทบทวนนโยบายเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี ข้อกำหนดเกี่ยวกับจริยธรรมธุรกิจและคู่มือจรรยาบรรณ (สำหรับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน) วิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยม กลยุทธ์ของบริษัทฯ โดยพิจารณาให้ความเห็นชอบและอนุมัติ ก่อนนำไปประกาศใช้ คณะกรรมการได้สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติรวมถึงติดตามการปฏิบัติดังกล่าว โดยบริษัทฯ ได้จัดให้มีหน่วยงานกำกับการปฏิบัติงาน (COMPLIANCE UNIT) ขึ้นเพื่อรับผิดชอบงานดังกล่าว ตลอดจนบริษัทฯ ได้จัดให้มีการเปิดเผยรายชื่อ ประวัติ และบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการชุดย่อยอีก 5 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน คณะกรรมการธรรมาภิบาลและความยั่งยืน และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1 One Report) ปี 2565 และใน www.pps.co.th นอกจากนั้นคณะกรรมการบริษัทยังสนับสนุนให้ประธานกรรมการชุดย่อยเปิดเผยจำนวนครั้งของการประชุม จำนวนครั้งที่กรรมการแต่ละท่านเข้าร่วมประชุมในปีที่ผ่านมาและความเห็นต่อการทำหน้าที่ไว้ในรายงานดังกล่าวด้วย

บริษัทฯ ได้เปิดเผยกระบวนการกำหนดและความเหมาะสมของค่าตอบแทนไว้ในรายงานประจำปี 2565 ในหัวข้อเรื่องค่าตอบแทนคณะกรรมการและผู้บริหาร โดยเป็นการเปิดเผยจำนวนครั้งที่เข้าประชุมของกรรมการในการประชุมคณะกรรมการชุดต่าง ๆ มีรายละเอียดตามที่ปรากฎในตารางการเข้าประชุมของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ และจำนวนค่าตอบแทนที่จ่ายให้แก่คณะกรรมการคณะต่าง ๆ ปรากฎในตารางการเปรียบเทียบค่าตอบแทนของคณะกรรมการคณะต่าง ๆ ระหว่างปี 2563 ถึงปี 2565

คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อความถูกต้องและครบถ้วนของการจัดทำงบการเงินของบริษัทฯ ให้มีความโปร่งใส ถูกต้อง รวมถึงการจัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญอย่างเพียงพอในหมายเหตุประกอบงบการเงิน รวมทั้งสารสนเทศการเงินที่ปรากฎในรายงานประจำปี ซึ่งงบการเงินดังกล่าวจัดตั้งขึ้นตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไปและตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบบัญชีที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คณะกรรมการบริษัทได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบจำนวน 4 ท่าน ประกอบด้วยกรรมการที่เป็นกรรมการอิสระและไม่เป็นผู้บริหาร เป็นผู้สอบทานรายงานทางการเงินประจำไตรมาสและงบการเงินประจำปี ให้มีความถูกต้องครบถ้วน และเป็นไปตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป ก่อนที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทพิจารณาต่อไป

ฝ่ายบัญชีของบริษัทฯ มีหน้าที่นำเสนอข้อมูลรายการที่เกี่ยวโยงกันและรายการที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ซึ่งได้ถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 89/12 และประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 21/2551 เรื่องหลักเกณฑ์ในการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน และประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการเปิดเผยข้อมูลและการปฏิบัติการของบริษัทจดทะเบียนในรายการที่เกี่ยวโยงกัน พ.ศ. 2546 ต่อคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อพิจารณาให้ความเห็น

คณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใส ถูกต้อง และครบถ้วน และรวดเร็วทันเวลา ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางการเงิน หรือข้อมูลทั่วไปที่สำคัญที่อาจมีผลกระทบต่อราคาหุ้น บริษัทฯ จะเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ โดยผ่านช่องทางและสื่อการเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ อาทิ การแจ้งข้อมูลโดยผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การแจ้งข้อมูลโดยผ่าน www.pps.co.th เป็นต้น นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัทยังได้จัดให้มีรายงานความรับผิดชอบของคณะกรรมการต่อรายงานทางการเงิน และรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อเปิดเผยควบคู่กันไปกับรายงานของผู้สอบบัญชี โดยจัดพิมพ์ไว้ในรายงานประจำปี เป็นประจำทุกปี

การเผยแพร่ข้อมูลของบริษัทฯ แก่นักลงทุนทั้งที่เป็นผู้ถือหุ้นและผู้ที่สนใจจะถือหุ้นในอนาคต เป็นอำนาจของประธานกรรมการ ประธานกรรมการบริหาร กรรมการผู้จัดการ โดยนักลงทุนสามารถติดต่อได้ที่ส่วนงานนักลงทุนสัมพันธ์ของบริษัทฯ หมายเลขโทรศัพท์ 02-7182785-9 หรือ www.pps.co.th.

5.1 วาระในการดำรงตำแหน่ง

วาระในการดำรงตำแหน่งของกรรมการบริษัท ได้กำหนดให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน พ.ศ. 2535 ส่วนกรรมการอิสระมีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี ติดต่อกันได้ไม่เกิน 3 วาระ

5.2 การกำหนดค่าตอบแทนกรรมการ

นโยบายค่าตอบแทนกรรมการได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนและโปร่งใส โดยค่าตอบแทนอยู่ในระดับเดียวกับอุตสาหกรรมการ และสูงเพียงพอที่จะดูแลและรักษากรรมการที่มีคุณสมบัติที่ต้องการไว้ได้ และได้ขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นแล้ว กรรมการที่ได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมการตรวจสอบ กรรมการสรรหาและพิจารณาผลตอบแทน และกรรมการชุดอื่น ๆ จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มตามปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น

โครงสร้างค่าตอบแทนของกรรมการ (กรรมการบริษัท กรรมการอิสระ กรรมการที่เป็นผู้บริหาร กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร) ประกอบด้วย

  1. ค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงิน
    • เบี้ยประชุม
    • ค่าตอบแทนพิเศษ (เงินโบนัส) ขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของบริษัทฯ
  2. ค่าตอบแทนประจำ เงินเดือนและค่าตอบแทนอื่น ๆ
    • - ไม่มี -
  3. สิทธิประโยชน์อื่นๆ
    • - ไม่มี -

คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนทำหน้าที่เสนอแนวทางและวิธีการในการกำหนดค่าเบี้ยประชุม ค่ารับรอง เงินรางวัล และบำเหน็จ รวมทั้งผลประโยชน์อื่นใดที่มีลักษณะเป็นเงินค่าตอบแทน ให้แก่กรรมการบริษัท โดยการเสนอเรื่องเพื่อขอความเห็นจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นเป็นประจำทุกปี เว้นแต่สิทธิอันพึงมีพึงได้ตามระเบียบของบริษัทฯ

5.3 คณะกรรมการชุดย่อยต่าง ๆ

คณะกรรมการบริษัทได้แต่งตั้งกรรมการชุดย่อยแต่ละชุดจากผู้มีคุณสมบัติที่เหมาะสม โดยคณะกรรมการชุดย่อยแต่ละชุดจะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท โดยมีอำนาจแจ้งให้ฝ่ายบริหารเข้าร่วมประชุม ชี้แจง หรือจัดทำรายงานเสนอ โดยคณะกรรมการบริษัทจะเป็นผู้อนุมัติกฎบัตรของคณะกรรมการชุดย่อยแต่ละชุด

ปัจจุบัน คณะกรรมการบริษัทได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยจำนวน 5 ชุด

  1. คณะกรรมการบริหาร

    โครงสร้างคณะกรรมการบริหารประกอบด้วยจำนวนสมาชิกไม่น้อยกว่า 5 ท่าน และไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท โดยจะสรรหามาจากผู้บริหารของบริษัทและบริษัทในเครือ ทั้งนี้ กรรมการบริษัทมีสิทธิเสนอชื่อผู้เข้าเป็นกรรมการบริหารได้ตามที่เห็นสมควร

    คณะกรรมการบริหารมีกำหนดการประชุมเป็นประจำตามความเหมาะสม

    คุณสมบัติ

    1. คณะกรรมการบริหารต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่จะเป็นประโยชน์ ต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทเป็นอย่างดีมีความซื่อสัตย์สุจริต มีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจและมีเวลาเพียงพอที่จะอุทิศความรู้ความสามารถและปฏิบัติหน้าที่ให้แก่บริษัทอย่างเต็มที่
    2. คณะกรรมการบริหารต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกฎหมายอื่นใดที่เกี่ยวข้อง
  2. คณะกรรมการตรวจสอบ ประกอบด้วยกรรมการอิสระอย่างน้อย 3 คน และมีกรรมการตรวจสอบอย่างน้อย 1 คน ที่มีความรู้และประสบการณ์เพียงพอที่จะทำหน้าที่ในการสอบทานความน่าเชื่อถือของงบการเงินได้ ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบดำรงตำแหน่งวาระละ 3 ปี

  3. คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน ประกอบด้วยกรรมการอิสระเป็นส่วนใหญ่ มีกรรมการอย่างน้อย 3 คน ซึ่งคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน ดำรงตำแหน่งวาระละ 3 ปี เมื่อพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับการแต่งตั้งกลับเข้ามาเป็นกรรมการใหม่ได้อีก

  4. คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ประกอบด้วยกรรมการบริหารความเสี่ยง จำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน ควรประกอบด้วยตัวแทนจากฝ่ายงานต่าง ๆ ดังนี้ ตัวแทนกรรมการบริษัท ฝ่ายบริหาร ฝ่ายบัญชีหรือฝ่ายการเงิน ฝ่ายบุคคลและพัฒนาองค์กร ฝ่ายโครงการ โดยมีตัวแทนกรรมการบริษัททำหน้าที่เป็นประธานกรรมการ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงมีวาระในการดำรงตำแหน่งวาระละ 2 ปี เมื่อพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับการแต่งตั้งกลับเข้ามาเป็นกรรมการใหม่ได้อีก

  5. คณะกรรมการธรรมาภิบาลและความยั่งยืน ประกอบด้วยกรรมการธรรมภิบาลและความยั่งยืน จำนวน 5 คน โดยมีกรรมการอย่างน้อย 1 คนเป็นกรรมการอิสระ และมีกรรมการอย่างน้อยอีก 1 คนเป็นกรรมการบริหาร มีวาระในการดำรงตำแหน่งวาระละ 3 ปี เมื่อพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับการแต่งตั้งกลับเข้ามาเป็นกรรมการใหม่ได้อีก ประธานกรรมการต้องเป็นกรรมการอิสระและถูกแต่งตั้งโดยกรมการบริษัท

5.4 การประชุมคณะกรรมการบริษัท

คณะกรรมการบริษัทมีการประชุม เพื่อปฏิบัติงานตามหน้าที่รวมตลอดถึงการรับทราบผลการดำเนินงานเป็นประจำอย่างน้อยทุก 3 เดือน ในการประชุมกรรมการต้องสามารถแสดงความเห็นและใช้ดุลยพินิจได้อย่างเป็นอิสระ จำนวนองค์ประชุมของการลงมติในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท จะต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด ทั้งนี้ กรรมการจะเข้าร่วมประชุมทุกครั้ง นอกจากจะมีเหตุจำเป็นอันเป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งต้องแจ้งต่อเลขานุการคณะกรรมการบริษัทเป็นการล่วงหน้า บริษัทฯ จะรายงานจำนวนครั้งที่เข้าร่วมประชุมของกรรมการแต่ละท่านไว้ในรายงานประจำปี และบริษัทฯ ได้จัดให้เลขานุการคณะกรรมการบริษัทกำหนดตารางการประชุมล่วงหน้าทั้งปี เพื่อให้คณะกรรมการทุกท่านได้ทราบกำหนดการประชุมคณะกรรมการเป็นการล่วงหน้า เลขานุการคณะกรรมการบริษัทจะจัดส่งหนังสือเชิญประชุมแก่กรรมการทุกท่าน เพื่อยืนยันกำหนดวัน และแจ้งให้ทราบถึง เวลา สถานที่ และวาระการประชุม โดยจัดส่งเป็นการล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน และเลขานุการคณะกรรมการบริษัทจะเป็นผู้รวบรวมเอกสารประกอบการประชุมจากฝ่ายจัดการเพื่อจัดส่งให้คณะกรรมการล่วงหน้า โดยเอกสารดังกล่าวจะเป็นข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจและการใช้ดุลยพินิจอย่างเป็นอิสระของคณะกรรมการ และเลขานุการคณะกรรมการบริษัทจะเป็นผู้บันทึกประเด็นในการประชุม เพื่อจัดทำเป็นรายงานการประชุมที่มีเนื้อหาสาระครบถ้วนและเสร็จสมบูรณ์ภายใน 14 วัน นับจากวันประชุมเสร็จสิ้น เพื่อเสนอให้ประธานกรรมการลงนามและจะต้องจัดให้มีระบบการจัดเก็บที่ดี สะดวกต่อการค้นหา และเป็นความลับ

5.5 การประชุมกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร

คณะกรรมการบริษัทมีโอกาสประชุมโดยไม่มีกรรมการที่เป็นผู้บริหารเข้าร่วมประชุมตามความจำเป็น เพื่อให้กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารได้อภิปรายปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดการที่อยู่ในความสนใจโดยไม่มีฝ่ายจัดการร่วมด้วย การหารือจึงเป็นไปอย่างอิสระ โดยมีการประชุมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง สอดคล้องตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยในปี 2565 ได้มีการประชุมในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 และมีการรายงานผลการประชุมให้คณะกรรมการบริษัทได้รับทราบในประเด็นที่สำคัญ

5.6 การประชุมกรรมการอิสระ

คณะกรรมการบริษัทกำหนดให้กรรมการอิสระมีการประชุมกันเอง เพื่อให้มีการอภิปรายเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ โดยจัดให้มีการประชุมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้สอดคล้องตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยในปี 2565 ได้มีการประชุมในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565

5.7 การรายงานข้อมูล
  1. คณะกรรมการมีหน้าที่รับผิดชอบต่อรายงานข้อมูลทางการเงิน และข้อมูลทั่วไปต่อผู้ถือหุ้น และ ผู้ลงทุนทั่วไปอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ครบถ้วน โปร่งใส มีคำอธิบายอย่างมีเหตุผลพร้อมตัวเลขสนับสนุน ทั้งในด้านนโยบายผลการดำเนินงาน แนวโน้มในอนาคต ตลอดจนผลสำเร็จ และอุปสรรคของกิจการ
  2. คณะกรรมการมีความเข้าใจและสนับสนุนการปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติงานทางวิชาชีพของผู้สอบบัญชี
  3. คณะกรรมการได้จัดทำรายงานแสดงถึงความรับผิดชอบของคณะกรรมการต่อการจัดทำและเปิดเผยรายงานทางการเงินของกิจการเสนอไว้ในรายงานประจำปี ควบคู่กับงบการเงิน และรายงานของผู้สอบบัญชี โดยครอบคลุมถึง
    • ข้อกำหนดของกฎหมาย ที่กำหนดให้คณะกรรมการของบริษัทต้องจัดทำให้มีการจัดทำ งบการเงิน เพื่อแสดงถึงฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมาที่เป็นจริงและสมเหตุสมผล
    • ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัทในการจัดการให้มีข้อมูลทางบัญชีที่ถูกต้องครบถ้วน และเพียงพอเพื่อจะดำรงรักษาไว้ซึ่งทรัพย์สินของบริษัทฯ และเพื่อให้ทราบถึง จุดอ่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริต หรือมีการดำเนินการที่ผิดปกติ
    • ให้คำยืนยันว่าบริษัทฯ ได้ถือปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชีที่รับรองโดยทั่วไปใช้นโยบายบัญชีที่เหมาะสมและถือปฏิบัติโดยสม่ำเสมอ ตลอดจนได้มีการพิจารณาถึงความสมเหตุสมผลอย่างรอบคอบในการจัดทำงบการเงินของบริษัทฯ
5.8 การสรรหาผู้บริหารระดับสูงและแผนสืบทอดตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง

บริษัทฯ มีแผนการคัดเลือกบุคลากรที่จะเข้ามารับผิดชอบในตำแหน่งงานบริหารที่สำคัญทุกระดับ ให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและโปร่งใสโดยมีคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รวมถึงกรรมการผู้จัดการ เป็นผู้จัดทำแผนสืบทอดตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการ และผู้บริหารระดับสูง เพื่อให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณา

ทั้งนี้ กระบวนการสรรหาผู้บริหารระดับสูงเริ่มจากการคัดเลือกผู้ที่เป็นคนเก่งและดีมาร่วมงาน และมุ่งเน้นรับคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถมาพัฒนา สร้างความพร้อมให้ทุกคนมีโอกาสเติบโต ก้าวหน้าขึ้นสู่ระดับผู้บริหารในอนาคต(Future Leader) ซึ่งทุกคนจะได้รับการพัฒนาตามแบบแผนที่วางไว้เป็นรายบุคคล มีการมอบหมายงานที่ท้าทาย รวมทั้งการหมุนเวียนงานเพื่อพัฒนาทักษะการเป็นผู้นำและความรู้ในทุกด้าน ซึ่งการเตรียมบุคลากรดังกล่าวได้ดำเนินการกับพนักงานทุกระดับให้มีความพร้อมในการทดแทนกรณีที่มีตำแหน่งงานว่างลง นอกจากนี้ยังจัดให้มีการประเมินผลเพื่อติดตามผลการปฏิบัติตามแผนงานอย่างต่อเนื่อง โดยจัดให้มีการรายงานความคืบหน้าของแผนการสืบทอดตำแหน่งให้คณะกรรมการบริษัทรับทราบปีละ 1 ครั้ง และเมื่อตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการ หรือผู้บริหารระดับสูงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หรือตำแหน่งว่างลง คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนมีหน้าที่ในการคัดเลือกผู้บริหารระดับสูงท่านใหม่ เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติแต่งตั้งผู้ที่มีความสามารถและเหมาะสมต่อการดำรงตำแหน่งแทนต่อไป

คุณสมบัติเบื้องต้น มีรายละเอียดดังนี้

  1. มีความเป็นผู้นำอย่างโดดเด่นและสามารถแสดงถึงบทบาทหน้าที่ของการเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการได้
  2. มีประสบการณ์ในการวางแผนกลยุทธ์และการบริหารงานตรงตามวิสัยทัศน์ขององค์กร
  3. มีความเข้าใจในหลักการบริหารทางการเงินและผลประกอบการขององค์กรเป็นอย่างดี
  4. มีความสามารถและมีทักษะการทำงานที่หลากหลายนอกเหนือจากด้านวิศวกรรมซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทฯ เช่น การตลาด การประชาสัมพันธ์ การเงิน เป็นต้น
  5. มีความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับการกํากับดูแลกิจการและแนวปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในการบริหารองค์กร
  6. มีทักษะในการสื่อสาร สามารถตัดสินใจและแก้ปัญหาอย่างรอบรอบ เพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์กร
5.9 การปฐมนิเทศกรรมการใหม่

คณะกรรมการบริษัทกำหนดให้มีการปฐมนิเทศกรรมการใหม่ทุกคน ก่อนการทำหน้าที่กรรมการ เพื่อให้กรรมการใหม่รับทราบความคาดหวังที่บริษัทฯ มีต่อบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของกรรมการ นโยบายและแนวทางปฏิบัติในการกำกับดูแลกิจการของบริษัทฯ ตลอดจนสร้างความรู้ ความเข้าใจในธุรกิจและการดำเนินงานด้านต่างๆตลอดจนเป้าหมายการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ รวมทั้งข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้กับกรรมการที่เข้ารับตำแหน่งในบริษัทฯ เป็นครั้งแรกเพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ

สำหรับในปี 2565 บริษัทฯ ได้จัดให้มีการปฐมนิเทศกรรมการใหม่ ในวันที่ 28 มิถุนายน 2565

5.10 การดำรงตำแหน่งในบริษัทอื่นของกรรมการและผู้บริหารระดับสูง

คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดนโยบายจำกัดจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่กรรมการแต่ละคนจะดำรงตำแหน่งกรรมการไว้ไม่เกิน 3 แห่ง สำหรับประธานเจ้าหน้าที่บริษัท (CEO) และกรรมการผู้จัดการ (MD) บริษัทฯกำหนดเป็นนโยบายให้ CEO หรือ MD ต้องแจ้งต่อคณะกรรมการบริษัทก่อนไปดำรงตำแหน่งกรรมการที่บริษัทอื่น ซึ่งในปี 2565 กรรมการทุกท่านได้ปฏิบัติตามนโยบายที่กำหนด

5.11 การพัฒนากรรมการและผู้บริหารระดับสูง

บริษัทฯมีนโยบายสนับสนุนให้คณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วมสัมมนาหลักสูตรที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณะกรรมการบริษัท และผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่าง ๆ อยู่เสมอ โดยหลักสูตรที่กรรมการบริษัทควรเข้าร่วมสัมมนาอย่างน้อยจะเป็นหลักสูตรของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เพื่อนำความรู้และประสบการณ์มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาบริษัทฯ ต่อไป

อนึ่ง กรรมการทุกท่านของบริษัทฯ ได้เข้าร่วมสัมมนาอบรมหลักสูตรที่สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ได้จัดขึ้น คิดเป็นร้อยละ 100 ของจำนวนกรรมการทั้งคณะ

ในปี 2565 บริษัทฯ ได้จัดให้มีการอบรมและทำกิจกรรม Workshop ร่วมกันระหว่างคณะกรรมการบริษัท ผู้บริหารระดับสูง ผู้อำนวยการโครงการ และตัวแทนฝ่ายงาน เพื่อทบทวนกลยุทธ์และเสนอแนวทางในการทำธุรกิจ สำหรับจัดทำแผนธุรกิจของบริษัทฯ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังจัดให้มีการอบรมด้านปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความยั่งยืนทางธุรกิจ เพื่อวิเคราะห์ประเด็นความเสี่ยงด้านความยั่งยืน และนำมาใช้ประกอบการทำแผนธุรกิจของบริษัทฯ เพิ่มเติมด้วย โดยได้เชิญนายอนันตชัย ยูรประถม ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนมาเป็นวิทยากรพิเศษในครั้งนี้

5.12 การส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติและติดตามการปฏิบัติตามแนวนโยบายต่าง ๆ

คณะกรรมการบริษัทได้ให้ความสำคัญในการที่จะส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติตลอดจนควบคุมติดตามการปฏิบัติตามแนวนโยบายต่าง ๆ ที่บริษัทฯ ได้ประกาศใช้ โดยบริษัทฯ ได้มอบหมายให้ฝ่ายฝึกอบรม PPS Training Center PPS ปรับเพิ่มหลักสูตรการฝึกอบรมโดยให้รวมเนื้อหาของนโยบายต่าง ๆ ที่บริษัทฯ ได้ประกาศใช้ไว้ในหลักสูตรการฝึกอบรม ซึ่งได้อบรมให้แก่ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับ 100% นอกจากนี้บริษัทฯ ได้รวบรวมเนื้อหาให้เข้ามาอยู่ในหลักสูตรการอบรมพนักงานใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานในทุกระดับเข้าใจและปฏิบัติตนได้สอดคล้องตามข้อกำหนดเกี่ยวกับจริยธรรมธุรกิจ และคู่มือจรรยาบรรณสำหรับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน และข้อบังคับของบริษัท อย่างครบถ้วน พร้อมทั้งได้จัดตั้งหน่วยงานกำกับการปฏิบัติงาน (Compliance Unit) ขึ้น เพื่อรับผิดชอบและติดตามการปฏิบัติงานต่าง ๆ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ โดยในปัจจุบัน ยังไม่พบกรณีที่พนักงานของบริษัทฯ ละเมิดกฎหมาย หรือกระทำความผิดตามข้อกำหนดเกี่ยวกับจริยธรรมธุรกิจและคู่มือจรรยาบรรณหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของบริษัทฯ

สำหรับนโยบายที่บริษัทฯ ได้ประกาศใช้และจัดให้รวมอยู่ในเนื้อหาของการฝึกอบรมมีดังต่อไปนี้

  1. นโยบายกำกับการดูแลกิจการที่ดี
  2. ข้อกำหนดเกี่ยวกับจริยธรรมธุรกิจ และคู่มือจรรยาบรรณสำหรับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน
  3. นโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น
  4. การไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
  5. การจัดการพลังงานและก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  6. มาตรการป้องกันเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน
  7. การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
  8. นโยบายในการควบคุมการปฏิบัติงานและการรักษาความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของบริษัทฯ
  9. นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
5.13 กรรมการอิสระ

กรรมการอิสระ คือ กรรมการที่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหารจัดการและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ ไม่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจหรือกิจกรรมการอื่นใด ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ/บริษัทในเครือ/บริษัทร่วม/ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือนิติบุคคลที่อาจมีผลขัดแย้ง ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อประโยชน์ของบริษัทฯและ/หรือผู้ถือหุ้น

โดยปัจจุบันกรรมการอิสระของบริษัทฯ มีจำนวน 4 คน ได้แก่ นายคเชนทร์ เบญจกุล นายพิศิษฐ์ แสง-ชูโต นายจุฬา สุขมานพ และนายอัฐวุฒิ ปภังกร มีคุณสมบัติเป็นไปตามนิยามกรรมการอิสระ (คุณสมบัติกรรมการอิสระ) ของบริษัทฯ ซึ่งมีคุณสมบัติเทียบเท่าข้อกำหนดของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนดไว้

5.14 การติดต่อสื่อสารกับฝ่ายบริหาร

คณะกรรมการบริษัทสนับสนุนให้ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการบริษัท โดยเป็นผู้นำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวกับวาระที่ตนรับผิดชอบต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เพื่อให้คณะกรรมการบริษัทได้รับทราบข้อมูลความคิดเห็นจากผู้บริหารที่รับผิดชอบงานโดยตรง ขณะเดียวกันผู้บริหารก็มีโอกาสได้เรียนรู้และทำความเข้าใจมุมมองของคณะกรรมการบริษัท

คณะกรรมการบริษัทส่งเสริมให้มีการพบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกรรมการและผู้บริหารระดับสูงในโอกาสอื่น ๆ นอกเหนือจากการประชุมคณะกรรมการบริษัท เพื่อให้กรรมการได้มีโอกาสทำความรู้จักคุ้นเคยกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ

5.15 กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร ที่มีประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทฯ

นายคเชนทร์ เบญจกุล และนายพิศิษฐ์ แสง-ชูโต สำเร็จการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ กรรมการบริษัท นายคเชนทร์ เบญจกุล และนายพิศิษฐ์ แสง-ชูโต จึงเป็นกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารที่มีความรู้ มีประสบการณ์ทำงานด้านวิศวกรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทฯ ส่งเสริมให้การทำงานของบริษัทฯ มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

5.16 การนำกลยุทธ์ของบริษัทฯ ไปปฏิบัติ

คณะกรรมการได้มีการติดตามดูแลให้มีการนำกลยุทธ์ของบริษัทฯ ไปปฏิบัติเป็นรายไตรมาส โดยกำหนดให้มีวาระการประชุมเพื่อมีการรายงานและติดตามดูแลในการประชุมคณะกรรมการบริษัททุกไตรมาส

5.17 ความเป็นอิสระของกรรมการ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ กับบริษัทผู้สอบบัญชี

บริษัทฯ กำหนดให้บริษัทผู้สอบบัญชีภายนอก ต้องมีความเป็นอิสระจากกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ โดยกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ ต้องไม่เคยเป็นหุ้นส่วนหรือเคยเป็นพนักงานของบริษัทผู้สอบบัญชีภายนอกที่บริษัทใช้บริการ (อย่างน้อยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา) ทั้งนี้บริษัทฯ ได้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และไม่เคยปรากฏว่ามี การฝ่าฝืนข้อกำหนดดังกล่าว

5.18 เลขานุการบริษัท

คณะกรรมการบริษัทกำหนดให้มีเลขานุการบริษัทขึ้น โดยแต่งตั้ง นายวรเดช เปี่ยมสุวรรณ ทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการบริษัท และเป็นเลขานุการบริษัท เพื่อให้การบริหารงานของบริษัทฯ ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยมีหน้าที่และความรับผิดชอบหลัก ดังนี้

  1. ให้คำแนะนำและสนับสนุนงานของคณะกรรมการบริษัท เกี่ยวกับข้อกฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  2. ดูแลให้มีการดำเนินการตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมทั้งติดตามให้นโยบายและข้อแนะนำของคณะกรรมการบริษัท มีผลในทางปฏิบัติ
  3. รับผิดชอบในการจัดทำและจัดเก็บเอกสารสำคัญต่าง ๆ
  4. กำกับดูแลให้บริษัทฯ และคณะกรรมการบริษัท และฝ่ายจัดการปฏิบัติตามข้อกฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  5. ติดต่อสื่อสารกับผู้ถือหุ้น และดูแลผู้ถือหุ้นอย่างเหมาะสม
  6. ติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง

อนึ่ง นายวรเดช เปี่ยมสุวรรณ ได้ผ่านการอบรมในหลักสูตร COMPANY SECRETARY PROGRAM (CSP) รุ่น 42/2554 ที่จัดโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ซึ่งเป็นหลักสูตรเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเลขานุการบริษัทโดยตรง