ข้อมูลบริษัท

ขอบเขตอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบ
  1. สอบทานให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีการรายงานทางการเงินอย่างถูกต้องและเปิดเผยเพียงพอ โดยการประสานงานกับผู้สอบบัญชีและผู้บริหารที่รับผิดชอบจัดทำรายงานทางการเงินทั้งรายไตรมาสและประจำปี คณะกรรมการตรวจสอบอาจเสนอแนะให้ผู้สอบบัญชีสอบทานหรือตรวจสอบรายการใดๆ ที่เห็นว่าจำเป็นและเป็นเรื่องสำคัญในระหว่างการตรวจสอบบัญชีของบริษัทฯ ก็ได้
  2. สอบทานให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีระบบควบคุมภายใน (Internal Control) และการตรวจสอบภายใน (Internal Audit) ที่มีความเหมาะสมและมีประสิทธิผล และพิจารณาความเป็นอิสระของสำนักตรวจสอบภายใน ตลอดจนให้ความเห็นชอบในการพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้าย เลิกจ้างหัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน หรือหน่วยงานอื่นใดที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการตรวจสอบภายใน
  3. สอบทานการปฏิบัติงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทฯ
  4. เสนอแต่งตั้งและเลิกจ้างผู้สอบบัญชีภายนอกโดยในการคัดเลือกและเสนอแต่งตั้งจะพิจารณาคัดเลือกบุคคลซึ่งมีความเป็นอิสระเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ และบริษัทย่อย รวมถึงพิจารณาค่าตอบแทนการตรวจสอบบัญชี โดยคำนึงถึงความน่าเชื่อถือ ความเพียงพอของทรัพยากร และปริมาณงานตรวจสอบของสำนักงานบัญชีนั้น รวมถึงประสบการณ์ของผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำการตรวจสอบบัญชีของบริษัทฯ รวมทั้งเข้าร่วมประชุมกับผู้สอบบัญชีโดยไม่มีฝ่ายจัดการเข้าร่วมประชุมด้วยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  5. พิจารณารายการเกี่ยวโยงกันหรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่ารายการดังกล่าวสมเหตุสมผลและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทฯ
  6. จัดทำรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบโดยเปิดเผยไว้ในรายงานประจำปีของบริษัทฯ ซึ่งรายงานดังกล่าวลงนามโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบ รายงานดังกล่าวควรประกอบด้วยข้อมูลต่อไปนี้
    • ความเห็นเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำและการเปิดเผยข้อมูลในรายงานทางการเงินของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ถึงความถูกต้อง ครบถ้วน และเชื่อถือได้
    • ความเห็นเกี่ยวกับความเพียงพอของระบบควบคุมภายในของบริษัทฯ และบริษัทย่อย
    • ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทฯ และบริษัทย่อย
    • ความเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ และบริษัทย่อย
    • ความเห็นเกี่ยวกับรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์
    • จำนวนการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ และการเข้าร่วมประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบแต่ละท่าน
    • ความเห็นหรือข้อสังเกตโดยรวมที่คณะกรรมการตรวจสอบได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎบัตร (Charter)
    • รายงานอื่นใดที่เห็นว่าผู้ถือหุ้นและนักลงทุนทั่วไปควรทราบ ภายใต้ขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท
  7. ทบทวนนโยบายการบริหารทางการเงินและบริหารความเสี่ยง ทบทวนการปฏิบัติตามจรรยาบรรณทางธุรกิจของผู้บริหาร ทบทวนร่วมกับผู้บริหารของบริษัทฯ ในรายงานสำคัญๆ ที่ต้องเสนอต่อสาธารณชนตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ บทรายงานและการวิเคราะห์ของฝ่ายบริหาร (MD&A) เป็นต้น
  8. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมายและคณะกรรมการตรวจสอบเห็นชอบด้วย

ทั้งนี้ กรรมการตรวจสอบทั้ง 4 ท่านของบริษัทฯ มาจากกรรมการอิสระที่คุณสมบัติตามข้อ 16 ของประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 28/2551

องค์ประกอบ และการสรรหากรรมการตรวจสอบ

กรรมการตรวจสอบของบริษัทฯ จะต้องได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริษัทให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท และมีคุณสมบัติ ตามที่กฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงประกาศ ข้อบังคับ และ/หรือระเบียบของตลาดหลักทรัพย์กำหนด โดยมีจำนวน ไม่น้อยกว่า 3 คน ทั้งนี้ กรรมการตรวจสอบอย่างน้อย 1 คน ต้องเป็นผู้มีความรู้ด้านการบัญชีและการเงิน วาระการดำรงตำแหน่งของ คณะกรรมการตรวจสอบมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี นับจากวันที่มีมติแต่งตั้ง และเมื่อครบวาระแล้ว หากคณะกรรมการ บริษัทหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นยังไม่ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบชุดใหม่ ก็ให้คณะกรรมการตรวจสอบชุดเดิมปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะกรรมการบริษัทหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นจะได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบชุดใหม่แทนคณะกรรมการตรวจสอบชุดเดิมที่หมด วาระลง และหรือเป็นไปตามวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท โดยกรรมการตรวจสอบที่สรรหามาได้จะต้องเป็นกรรมการอิสระและ มีคุณสมบัติเป็นคณะกรรมการตรวจสอบ ดังนี้

คุณสมบัติคณะกรรมการอิสระ (นิยามกรรมการอิสระ)

บริษัทฯ ได้กำหนดคุณสมบัติของกรรมการอิสระ (นิยามกรรมการอิสระ) ของบริษัทฯ ไว้โดยมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับหลักเกณฑ์ที่คณะ กรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนดไว้ ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  1. ถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 1 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท ทั้งนี้ นับรวมการถือหุ้นของผู้ที่เกี่ยวข้องของกรรมการอิสระรายนั้นๆด้วย
  2. ไม่เป็นหรือเคยเป็นกรรมการที่มีส่วนร่วมบริหารงาน ลูกจ้าง พนักงาน ที่ปรึกษาที่ได้เงินเดือนประจำ หรือผู้มีอำนาจควบคุม ของบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทย่อยลำดับเดียวกัน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือของผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี ก่อนวันที่ยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน ทั้งนี้ ลักษณะต้อง ห้ามดังกล่าว ไม่รวมถึงกรณีที่กรรมการอิสระเคยเป็นข้าราชการ หรือที่ปรึกษาของส่วนราชการซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้ มีอำนาจควบคุมของบริษัท
  3. ไม่เป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต หรือโดยการจดทะเบียนตามกฎหมายในลักษณะที่เป็น บิดามารดา คู่สมรส พี่น้อง และบุตร รวมทั้งคู่สมรสของบุตร ของผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้มีอำนาจควบคุม หรือบุคคลที่จะได้รับการเสนอให้เป็นผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท หรือบริษัทย่อย
  4. ไม่มีหรือเคยมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของ บริษัท ในลักษณะที่อาจเป็นการขัดขวางการใช้วิจารณญาณอย่างอิสระของตน รวมทั้งไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ถือหุ้นที่มีนัย หรือผู้ มีอำนาจควบคุมของผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจ ควบคุมของบริษัท เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี ก่อนวันที่ยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน
  5. ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้สอบบัญชีของบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของ บริษัท และไม่เป็นผู้ถือหุ้นที่มีนัย ผู้มีอำนาจควบคุม หรือหุ้นส่วนของสำนักงานสอบบัญชี ซึ่งมีผู้สอบบัญชีของบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทสังกัดอยู่ เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมา แล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี ก่อนวันที่ยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน
  6. ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ให้บริการทางวิชาชีพใดๆ ซึ่งรวมถึงการให้บริการเป็นที่ปรึกษากฎหมายหรือที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งได้รับ ค่าบริการเกินกว่า 2 ล้านบาทต่อปีจากบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของ บริษัท และไม่เป็นผู้ถือหุ้นที่มีนัย ผู้มีอำนาจควบคุม หรือหุ้นส่วนของผู้ให้บริการทางวิชาชีพนั้น เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะ ดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี ก่อนวันที่ยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน
  7. ไม่เป็นกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของกรรมการของบริษัท ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้อง กับผู้ถือหุ้นรายใหญ่
  8. ไม่ประกอบกิจการที่มีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันที่มีนัยกับกิจการของบริษัท หรือบริษัทย่อย หรือไม่เป็นหุ้นส่วนที่ มีนัยในห้างหุ้นส่วน หรือเป็นกรรมการที่มีส่วนร่วมบริหารงาน ลูกจ้าง พนักงาน ที่ปรึกษาที่รับเงินเดือนประจำ หรือถือหุ้นเกิน ร้อยละ 1 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทอื่น ซึ่งประกอบกิจการที่มีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขัน ที่มีนัยกับกิจการของบริษัท หรือบริษัทย่อย
  9. ไม่มีลักษณะอื่นใดที่ทำให้ไม่สามารถให้ความเห็นอย่างเป็นอิสระเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัท
  10. กรรมการอิสระตามคุณสมบัติข้างต้น อาจได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท ให้ตัดสินใจในการดำเนินกิจการของบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทย่อยลำดับเดียวกัน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือ ผู้มีอำนาจควบคุม โดยมีการตัดสินใจในรูป แบบองค์คณะ (Collective Decision) ได้

คุณสมบัติคณะกรรมการตรวจสอบ

  1. ไม่เป็นกรรมการที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ให้ตัดสินใจในการดำเนินกิจการของบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัท ร่วม บริษัทย่อยลำดับเดียวกัน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท
  2. ไม่เป็นกรรมการของบริษัทใหญ่ บริษัทย่อย หรือบริษัทย่อยลำดับเดียวกัน เฉพาะที่เป็นบริษัทจดทะเบียน
  3. มีความรู้และประสบการณ์เพียงพอที่จะสามารถทำหน้าที่ในฐานะกรรมการตรวจสอบ ทั้งนี้ ต้องมีกรรมการตรวจสอบอย่างน้อย หนึ่งคนที่มีความรู้และประสบการณ์เพียงพอที่จะสามารถทำหน้าที่ในการสอบทานความน่าเชื่อถือของงบการเงินได้
  4. มีหน้าที่ในลักษณะเดียวกับที่กำหนดไว้ในประกาศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าด้วยคุณสมบัติและขอบเขตการดำเนินงาน ของคณะกรรมการตรวจสอบ
รายงานคณะกรรมการตรวจสอบ

เรียน ผู้มีส่วนได้เสียทุกท่าน

คณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นอิสระจำนวน 4 ท่าน โดยมีองค์ประกอบและคุณสมบัติตามข้อกำหนดและแนวทางปฏิบัติที่ดีของคณะกรรมการตรวจสอบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

คณะกรรมการตรวจสอบได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นอิสระ ตามขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบที่ระบุไว้ในกฎบัตรคณะกรรมการตรวจสอบซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท ในการสอบทานและผลักดันให้บริษัทฯ มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี พร้อมทั้งมีระบบการบริหารความเสี่ยง มีระบบการควบคุมภายในที่เพียงพอเหมาะสม เพื่อประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ได้รายงานผลการประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบแต่ละครั้งรวมถึงข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายบริหารให้คณะกรรมการบริษัททราบ

ในปี 2564 คณะกรรมการตรวจสอบได้มีการประชุมรวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง ซึ่งกรรมการตรวจสอบทุกท่านได้เข้าร่วมประชุมครบถ้วนทุกครั้ง โดยคณะกรรมการตรวจสอบได้ปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ที่เป็นสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

  1. การสอบทานรายงานทางการเงิน คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานงบการเงินรายไตรมาสและ งบการเงินประจำปีของบริษัทฯ รวมถึงงบการเงินรวมและรายการระหว่างกัน โดยได้เชิญผู้บริหารและผู้สอบบัญชีเข้าร่วมประชุมทุกครั้ง เพื่อชี้แจงและตอบข้อซักถามของคณะกรรมการตรวจสอบในเรื่องความถูกต้อง ความครบถ้วน การปรับปรุงรายการบัญชีที่สำคัญ และนโยบายหรือมาตรฐานการบัญชีที่ใช้ รวมถึงความเป็นอิสระของผู้สอบบัญชีเพื่อให้มั่นใจว่ารายงานทางการเงินของบริษัทฯ ได้จัดทำขึ้นตามกฎหมายและมาตรฐานบัญชีตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลด้วยความถูกต้องครบถ้วน เชื่อถือได้ เพื่อประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงิน
  2. การสอบทานความเพียงพอเหมาะสมของระบบการควบคุมภายใน คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานความเพียงพอ ความเหมาะสม และประสิทธิผลของระบบการควบคุมภายในของบริษัทฯ ร่วมกับบริษัทผู้ตรวจสอบภายในทุกไตรมาส โดยได้กำกับดูแล แนะนำ และสนับสนุนการปฏิบัติงานอย่างเป็นอิสระของผู้ตรวจสอบภายใน รวมทั้งได้สอบทานรายงานผลการตรวจสอบภายในปี 2564 ตลอดจนติดตามให้มีการปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะในรายงานผลการตรวจสอบ เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล ทั้งนี้คณะกรรมการตรวจสอบมีความเห็นว่าการควบคุมภายในของบริษัทฯ มีความเหมาะสมเพียงพอ ในการป้องกันและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยไม่พบข้อบกพร่องที่เป็นสาระสำคัญ
  3. การสอบทานการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทฯ รวมถึงการปฏิบัติตามข้อกำหนดของบริษัทฯ และข้อผูกพันที่บริษัทฯ มีไว้กับบุคคลภายนอก ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบไม่พบข้อบ่งชี้ที่ทำให้เชื่อว่ามีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามข้อกฎหมาย และข้อกำหนดต่าง ๆ ดังกล่าว
  4. การพิจารณาคัดเลือกผู้สอบบัญชี คณะกรรมการตรวจสอบได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบในการคัดเลือกและแต่งตั้ง บริษัท กรินทร์ ออดิท จำกัด เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ ประจำปี 2564 โดยพิจารณาจากความเป็นอิสระของผู้สอบบัญชี ความรู้ ความสามารถและทีมงานของผู้สอบบัญชีในสำนักงานสอบบัญชีภายใต้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม คณะกรรมการตรวจสอบจึงได้นำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาและขออนุมัติต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 นอกจากนี้คณะกรรมการตรวจสอบได้มีการพบปะกับผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ เป็นประจำทุกไตรมาส เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาจากการตรวจสอบ และหาแนวทางแก้ไขในประเด็นที่สำคัญ
  5. การสอบทานการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานประสิทธิผลและความเหมาะสมของกระบวนการการบริหารความเสี่ยงภายในองค์กร รวมถึงนโยบาย, แผนงาน, และแผนกลยุทธ์ในการบริหารความเสี่ยงของบริษัท ซึ่งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงได้นำเสนอให้พิจารณาทุกไตรมาส ให้ความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ รวมทั้งได้มีการติดตามผลความคืบหน้าและการทบทวนความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อปรับปรุงการบริหารความเสี่ยงให้เป็นปัจจุบัน
  6. การสอบทานรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ คณะกรรมการตรวจสอบได้พิจารณารายการที่เกี่ยวโยงกัน และรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยมอบหมายให้ผู้สอบบัญชีสอบทานรายการดังกล่าว รวมถึงเปิดเผยข้อมูลของรายการดังกล่าวไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินในทุกไตรมาส
  7. การสอบทานการกำกับดูแลกิจการที่ดี คณะกรรมการตรวจสอบได้เน้นให้บริษัทฯ บริหารงานตามหลักการของการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อความเชื่อมั่นแก่ผู้ถือหุ้น โดยคณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานประสิทธิภาพ และประสิทธิผลด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี พบว่ากรรมการบริษัท ฝ่ายจัดการ และพนักงานได้ปฏิบัติตามนโยบายที่กำหนดไว้อย่างโปร่งใส สมเหตุสมผล และสามารถตรวจสอบได้
  8. การต่อต้านคอร์รัปชัน คณะกรรมการตรวจสอบให้ความสำคัญในการต่อต้านการคอร์รัปชัน ซึ่งบริษัทฯ ยังคงรักษาสถานภาพสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต (CAC) อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้คณะกรรมการตรวจสอบได้กำกับติดตามการปฏิบัติตามนโยบายนี้ของบริษัทฯ อย่างใกล้ชิด ในปี 2564 และคณะกรรมการตรวจสอบยังได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของช่องทางการร้องเรียนและแจ้งเบาะแสการทุจริต (Whistle Blowing) ผ่านทางเว็บไซต์ www.pps.co.th/whistleblow

โดยสรุปในภาพรวมแล้ว คณะกรรมการตรวจสอบได้ปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบตามที่ได้ระบุไว้ในกฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท โดยใช้ความรู้ ความสามารถ และความระมัดระวังรอบคอบ มีความเป็นอิสระอย่างเพียงพอ เพื่อประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน คณะกรรมการตรวจสอบมีความเห็นว่า บริษัทฯ มีการรายงานข้อมูลทางการเงินอย่างถูกต้อง มีการดำเนินงานภายใต้ระบบควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ มีการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิผล มีการปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ มีการเปิดเผยรายการที่เกี่ยวโยงกันอย่างเหมาะสม และมีการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างเพียงพอ โปร่งใส และเชื่อถือได้

นายพิศิษฐ์ แสง-ชูโต
ประธานกรรมการตรวจสอบ