ข้อมูลบริษัท

ขอบเขตอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม

หน้าที่และความรับผิดชอบด้านธรรมาภิบาล (CG)

  1. กำหนดกลยุทธ์และแนวทางปฏิบัติในการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทฯ รวมถึง พิจารณา ให้ความเห็นชอบนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น (Anti-Corruption Policy) ให้มีความเหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจ สภาพแวดล้อมของบริษัทฯ วัฒนธรรมองค์กร และนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท เพื่อพิจารณาอนุมัติ
  2. ตรวจสอบและให้คำแนะนำในเรื่องหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทฯ ต่อคณะกรรมการบริษัท เพื่อให้เกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดีตามหลักการที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด รวมทั้งหลักปฏิบัติที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
  3. พิจารณา ทบทวน และปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับจริยธรรมธุรกิจและคู่มือจรรยาบรรณ รวมถึงนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น (Anti-Corruption Policy) ของบริษัทฯ ให้เกิดความเหมาะสมและทันสมัย ตลอดจนกำหนดแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลที่ดี เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติ
  4. ประชาสัมพันธ์นโยบาย แนวทางปฏิบัติที่ดี และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทฯ
  5. รับเรื่องร้องเรียนหรือการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับบริษัท จรรยาบรรณ และข้อกำหนดเกี่ยวกับจริยธรรมของบริษัทฯ หรือการกระทำอันทุจริตที่คนในองค์กรมีส่วนเกี่ยวข้อง และตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ได้รับแจ้ง หากพบว่ามีการกระทำผิดจ ริง จะดำเนินการเสนอเรื่องให้คณะกรรมการตรวจสอบหรือคณะกรรมการบริษัทร่วมกันพิจารณาลงโทษ หรือแก้ไขปัญหาดังกล่าว
  6. รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการบริษัทเป็นระยะ
  7. ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมาย

หน้าที่และความรับผิดชอบด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (SR)

  1. พิจารณาให้ความเห็นชอบกลยุทธ์และนโยบายเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของบริษัทฯ
  2. พิจารณากิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท
  3. พิจารณาแผนงานและงบประมาณประจำปีสำหรับการดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (SR) เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท
  4. พิจารณาและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (SR) และประเมินผลสำเร็จรวมทั้งคุณภาพของโครงการ
  5. ประชาสัมพันธ์นโยบาย แนวทางปฏิบัติที่ดี และส่งเสริมกิจกรรมการมีส่วนร่วมด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (SR) ของบริษัทฯ
  6. รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการบริษัทเป็นระยะ
  7. ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมาย
องค์ประกอบ และการสรรหากรรมการธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม

คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งประกอบด้วยกรรมการ 5 คน โดยมีกรรมการอย่างน้อย 1 คนเป็นกรรมการอิสระ และมีกรรมการอย่างน้อยอีก 1 คนเป็นกรรมการบริหาร มีวาระในการดำรงตำแหน่งวาระละ 3 ปี เมื่อพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับการแต่งตั้งกลับเข้ามาเป็นกรรมการใหม่ได้อีก

รายงานคณะกรรมการธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม

เรียน ท่านผู้ถือหุ้น

คณะกรรมการธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎบัตรคณะกรรมการธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมตามขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท โดยในปี 2564 คณะกรรมการธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมได้มีการประชุมรวม 2 ครั้ง และได้พิจารณาเรื่องต่างๆ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

  1. พิจารณาทบทวนกฎบัตรและนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน คณะกรรมการธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมมีความเห็นให้มีการพิจารณาทบทวนกฎบัตรของคณะกรรมการธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม และนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันเป็นประจำทุกปี พร้อมทั้งให้มีการสื่อสารนโยบายดังกล่าวและจรรยาบรรณของพนักงาน ให้พนักงานทั้งองค์กรรับทราบและปฏิบัติตาม
  2. พิจารณาทบทวนแผนแม่บท (Roadmap 2561-2565) ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะกรรมการธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมได้ทบทวนการจัดทำแผนแม่บท (Roadmap) ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนขึ้นในช่วง ปี 2561-2565 ดังกล่าว โดยคณะกรรมการได้พิจารณาจัดตั้งคณะทำงานพัฒนากลยุทธ์เพื่อความยั่งยืนขึ้น เพื่อดำเนินการตามกลยุทธ์การพัฒนาอย่างยั่งยื่นและแผนแม่บทดังกล่าว รวมถึงสื่อสารให้ทุกคนในบริษัทฯ รับทราบและปฎิบัติตาม พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมรับทราบ
  3. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อนโยบายและเป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน คณะกรรมการธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมได้แสดงความเห็นชอบต่อนโยบายและเป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนที่ได้นำแนวปฏิบัติในการพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืนมาปรับปรุงและร่างเป็นนโยบาย โดยมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับแผนแม่บท (Roadmap 2561-2565) ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ ซึ่งได้นำเสนอให้คณะกรรมบริษัทฯ อนุมัติ รวมถึงประกาศใช้นโยบายและสื่อสารให้พนักงานรับทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยกำหนดให้มีการพิจารณาทบทวนเป็นประจำทุกปี
  4. การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านความยั่งยืน คณะกรรมการธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมได้ร่วมกันวิเคราะห์ปัจจัยความเสี่ยงที่เกี่ยวกับความยั่งยืน และพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวกับความยั่งยืน 2 ประเด็นหลัก คือ ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic Risk) และด้านการบริหารจัดการ (Operation Risk) ซึ่งได้ควบรวมความเสี่ยงในการบริหารพัฒนาบุคลากร ความเสี่ยงด้านการเงิน ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม และความเสี่ยงด้านคอร์รัปชัน เพื่อความโปร่งใสตลอดห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ยังได้พิจารณาความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต เพื่อกำหนดมาตรการลดความเสี่ยงและการติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งได้แจ้งให้ผู้บริหารและพนักงานของบริษัทฯ ทราบโดยทั่วกัน เพื่อดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
  5. พิจารณากระบวนการรับข้อร้องเรียนและขั้นตอนการพิจารณาตรวจสอบข้อร้องเรียน คณะกรรมการธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเคารพต่อสิทธิ เสรีภาพ และปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุก ๆ ระดับอย่างเท่าเทียม และยังเปิดโอกาสให้สามารถร้องเรียนเรื่องต่าง ๆ ในกรณีที่ถูกกดขี่ข่มเหง ไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือแจ้งเบาะแสการพบเห็นการกระทำที่ผิดกฏหมาย แสดงความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะผ่านช่องทางการร้องเรียนของบริษัทฯ ตามแนวทาง Whistleblower Policy ซึ่งเป็นนโยบายคุ้มครองและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้แจ้งข้อมูลหรือให้เบาะแสเกี่ยวกับการทุจริต ทางอีเมล์ whistleblow@pps.co.th ซึ่งตลอดปี 2564 บริษัทฯ ยังไม่มีข้อร้องเรียนตาม Whistleblower System แต่อย่างใด

จากการดำเนินงานทั้งหมด บริษัทฯ เห็นว่าจะมีส่วนช่วยกำหนดแนวทางในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังและมีความรับผิดชอบต่อทุกขั้นตอนการดำเนินงาน เพื่อให้บริษัทฯ เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนไปพร้อม ๆ กับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมในอนาคต

นายพงศ์ธร ธาราไชย
ประธานกรรมการธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม