ข้อมูลบริษัท

ขอบเขตอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการบริหารความเสี่ยง
  1. กำกับดูแลการพัฒนา และมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์กลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงขององค์กรประจำปี
  2. พัฒนาและกลั่นกรองระดับความเสี่ยงที่องค์กรยอมรับได้ และช่วงความเบี่ยงเบนของความเสี่ยงที่ยอมรับได้
  3. ให้ทิศทางและวิธีการสอดส่องดูแลแก่หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารความเสี่ยง
  4. ประเมินความเสี่ยงที่มีสาระสำคัญและรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท
  5. ประเมินรายงานความเสี่ยงของบริษัท
  6. สอบทานแผนงานบริหารความเสี่ยงทั้งของสำนักงานใหญ่และส่วนงานโครงการ ที่เกิดขึ้นเปรียบเทียบกับแผนงานที่ได้กำหนดไว้ทุกไตรมาส
องค์ประกอบ และการสรรหากรรมการบริหารความเสี่ยง

คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง มีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน โดยควรประกอบด้วยตัวแทนจากฝ่ายงานต่าง ๆ ดังนี้ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายบัญชีหรือการเงิน ฝ่ายบุคคลและพัฒนาองค์กร ฝ่ายโครงการ และจะต้องได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริษัท ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงดำรงตำแหน่งได้คราวละ 2 ปี และเพื่อให้การทำงานของคณะกรรมการมีความต่อเนื่อง คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงที่พ้นตำแหน่งตามวาระอาจะได้รับการแต่งตั้งกลับเข้ามาเป็นกรรมการใหม่ได้อีก

รายงานคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง

เรียน ท่านผู้ถือหุ้น

ปี 2564 บริษัทฯ ตั้งใจปรับและพัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจปัจจุบันให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการขยายช่องทางธุรกิจใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างโอกาสให้กับบริษัทฯ และผู้ร่วมลงทุน แม้ว่าในปีนี้ประเทศไทยจะประสบปัญหาจากโรคระบาดไวรัสโคโรนา หรือที่เรียกกันว่า “COVID-19” เช่นเดียวกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งทำให้เศรษฐกิจโลกมีการหยุดชะงัด แต่ด้วยการบริหารจัดการอย่างดีของรัฐบาลไทยทำให้ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยสูง และน่าลงทุนจากนักธุรกิจชาวต่างชาติ บริษัทฯ จึงเห็นว่าอย่างไรแล้วถึงแม้บริษัทฯ จะได้รับผลกระทบจากโรคภัยในครั้งนี้อยู่บ้าง แต่ด้วยธุรกิจของบริษัทฯ ที่ได้ถูกวางแผนการทำงานอย่างดีในการรองรับงานหลากหลายรูปแบบจึงทำให้บริษัทฯ มีผลงานและก้าวผ่านปีที่ผ่านมาได้ อย่างไรก็ดี เพื่อความก้าวหน้าและเจริญเติบโตของบริษัทฯ อย่างยั่งยืน เรายังคงพัฒนาองค์กร พัฒนาบุคลากร และนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาเสริมประสิทธิภาพให้กับบริษัทฯ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจและขยายธุรกิจ บริษัทฯ จึงตระหนักและเตรียมความพร้อมอยู่เสมอให้ทันรับกับสภาวการณ์ต่าง ๆ ที่ประสบทั้งในปัจจุบันและอนาคต ที่จะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ

การบริหารความเสี่ยงจึงมีบทบาท ความสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งในการช่วยส่งเสริม สร้างความเชื่อมั่นให้บริษัทฯ ให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทั้งลดความสูญเสีย สร้างโอกาส และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น บริษัทฯ จึงกำหนดนโยบายให้กับบริษัทฯ และบริษัทย่อย ต้องประเมินความเสี่ยงทั้งภายในและภายนอกที่จะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงรับผิดชอบในการติดตาม กำกับดูแล กำหนดทิศทางนโยบาย ส่งเสริมการดำเนินการด้านการบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพ และกำหนดให้การบริหารและจัดการความเสี่ยงเป็นภารกิจที่สำคัญของทุกฝ่ายงาน โดยมีจุดมุ่งหมายให้การบริหารจัดการควบคุมความเสี่ยงอยู่ในระดับยอมรับได้ ให้มีการป้องกันไม่ให้สูญเสียโอกาสทางธุรกิจ

ในปี 2564 คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงได้มีการประชุม รวม 4 ครั้ง โดยมีวาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

  1. นำเสนอแผนบริหารความเสี่ยง ประจำปี 2564
    คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงได้จัดให้มีการประชุมกับทุกหน่วยงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย เพื่อการนำเสนอแผนการบริหารความเสี่ยง สำหรับการปฏิบัติงานในปี 2564 ต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง เพื่อพิจารณาและอนุมัติ
  2. ปัจจัยความเสี่ยง มาตรการป้องกันความเสี่ยง และแผนการบริหารความเสี่ยง
    คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาหัวข้อปัจจัยความเสี่ยงให้ครอบคลุมด้านต่าง ๆ และทบทวนความเสี่ยงเดิมที่มีอยู่ที่อาจเพิ่มระดับความเสี่ยงขึ้นตามการดำเนินการธุรกิจในปีนี้ อันอาจมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ที่มากขึ้น ซึ่งจัดให้มีมาตรการป้องกันความเสี่ยงและแผนบริหารความเสี่ยง แนวทางป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากความเสี่ยงดังกล่าวให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
  3. ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันความเสี่ยงและแผนการบริหารความเสี่ยง
    คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงได้ติดตามการจัดการบริหารความเสี่ยงอย่างใกล้ชิด โดยจัดให้มีการประชุมร่วมกับฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องในทุกไตรมาส เพื่อการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติให้เป็นตามแผนบริหารความเสี่ยงของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อให้การบริหารความเสี่ยงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้
  4. การบริหารความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
    บริษัทฯ ได้กำหนดเป็นนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงจึงมอบหมายให้ฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดทำการประเมินความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งติดตามและประเมินผล เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าว ที่ส่งผลลบต่อภาพลักษณ์และการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ อีกทั้งในด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับงานที่ให้บริการ ก็ได้กำหนดให้ต้องทำการประเมินความเสี่ยงด้วย
  5. การบริหารความเสี่ยงด้านคอร์รัปชัน
    คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ยังคงกำหนดให้ทุกฝ่ายของบริษัทฯ ประเมินความเสี่ยงด้านคอร์รัปชั่น เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงมาตรการป้องกันการทุจริตของบริษัทฯ ตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นที่บริษัทฯ ได้ลงนามประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต
  6. การบริหารความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการเกิดโรคระบาด
    คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงได้ให้ทุกฝ่ายของบริษัทฯ จัดเตรียมความพร้อมและประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อการรับมือและจัดการกับสถานการณ์ COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นด้านกลยุทธ์ ด้านการเงิน และด้านการปฎิบัติงาน เนื่องจากการหยุดหรือชะลอโครงการที่จะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะจัดการและป้องกันการระบาดได้ดี ก็ควรมีแผนสำรองในการเตรียมความพร้อมถ้าเกิดการระบาดในรอบสอง ดังเช่นประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่มีการระบาดหนักในรอบสองและรอบสาม

จากการดำเนินงานข้างต้น คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงได้ปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัทฯ โดยคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงมีการติดตามผลสำเร็จของการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการบริหารและจัดการความเสี่ยงเป็นอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้การดำเนินงานบรรลุตามวัตถุประสงค์ นำไปสู่การกำกับดูแลกิจการที่ดี และเพิ่มมูลค่าให้แก่องค์กรอย่างยั่งยืน

นายประวัติ กิติพงศ์ไพโรจน์
ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง